วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2548

การบริหารยาบริจาค

ผู้เขียนได้พบบทความที่น่าสนใจสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ก็คือ การบริหารยาบริจาค เพราะในอนาคตอาจจะมียาบริจาคมากมายก็เป็นได้ จึงได้นำมาให้อ่านดูเพื่อเพิ่มพูนความรู้และก็หวังว่าบทความดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ท่านบ้างตามสมควร

* จากบทความในวารสารวงการยา ปีที่ 5 ฉบับที่ 22 ประจำเดือน พฤษภาคม 2548 หน้า 46 – 49 โดย คุณธีระ ฉกาจนโรดม

Guidelines for Drug Donations

1. ความจำเป็นที่ต้องมีแนวทางของการบริจาคยา (The need for guidelines)
ในภาวะหลังเหตุการณ์มหันตภัยและความทุกข์ยากจะเกิดกระแสมนุษยธรรมและธารน้ำใจที่หลั่งไหลยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือทั้งยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ถูกส่งไปเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนและการเจ็บไข้ องค์กรบรรเทาภัยระหว่างประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างมากถ้าได้รับความช่วยเหลือจากการบริจาคยาและเวชภัณฑ์ที่ถูกต้องเหมาะสม แต่น่าเสียดายที่การบริจาคยาในหลายกรณีก่อให้เกิดโทษมากกว่าคุณ การบริจาคยาหลังภัยพิบัติ บ่อยครั้งที่การบริจาคขาดการประเมินความต้องการด้านยาและเวชภัณฑ์ตามเหตุและผล มีข้อมูลด้านระบาดวิทยาและประสบการณ์ในอดีต พบว่าการบริจาคยาหลั่งไหลมาโดยปราศจากแนวทางที่ถูกต้องตามความจำเป็นก่อนหลังของผู้รับ เกิดปัญหาติดตามมามากมาย มีตัวอย่างของการบริจาคยาที่ไม่เหมาะสมและเกิดขึ้นบ่อยๆ ดังต่อไปนี้
• ยาที่ได้รับบริจาคไม่สอดคล้องต่อความต้องการของภาวะฉุกเฉิน ไม่ตรงกับภาวะของโรคที่เกิดขึ้นและความพร้อมของการให้การรักษา ยาจำนวนมากมักไม่เป็นที่รู้จักของบุคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่นตลอดจนผู้ป่วย และไม่เป็นไปตามนโยบายด้านยาหรือหลักเกณฑ์มาตรฐานการรักษาของท้องถิ่น และยาเหล่านั้นอาจเป็นอันตรายต่อผู้ให้ด้วย
• ยาบริจาคจำนวนมากถูกส่งมาโดยไม่ได้ผ่านการคัดกรอง ฉลากยาเป็นภาษาต่างประเทศที่ไม่เป็นที่เข้าใจของผู้รับ ยาบางรายการระบุมาในชื่อการค้าที่ไม่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนยาในประเทศผู้รับบริจาค โดยไม่ได้แจ้งเป็นชื่อสามัญ (Generic name or INN, International Nonproprietary Name)
• คุณภาพของยาไม่ตรงตามมาตรฐานข้อกำหนดในประเทศผู้รับบริจาค เช่น ยาหมดอายุไปแล้วก่อนถึงมือผู้รับ หรือเป็นยาตัวอย่างเพื่อแจกแพทย์ ยาที่ส่งคืนจากผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์ถึงผู้จัดจำหน่าย
• บางครั้งผู้บริจาคละเลยต่อระเบียบปฏิบัติของการรับและกระจายยาที่ตราเป็นกฎข้อบังคับหรือกฎหมายเป็นทางการของประเทศผู้รับ จนเกิดการละเมิดกฎหมายขึ้น
• ยาที่บริจาคอาจสำแดงด้วยราคาที่สูงในประเทศผู้บริจาค แทนที่จะใช้ราคาตลาดโลก ในกรณีนี้อาจทำให้การเสียภาษีนำเข้า ค่าโสหุ้ยในการเก็บรักษาและกระจายยาสูงเกินความจำเป็นรัฐบาลบางประเทศอาจตัดงบประมาณด้านยาลงตามมูลค่าที่สำแดงเกินจริงนี้
• ยาที่ได้รับบริจาคอาจมาในปริมาณที่ผิดและมากเกินความต้องการ จนในที่สุดต้องถูกทำลายไปส่วนหนึ่ง สร้างปัญหาในการกำจัดของเสียและเพิ่มมลพิษในประเทศผู้รับ
มีหลายเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาจากการบริจาคยา สาเหตุหนึ่งมาจากความเชื่อผิดๆ ว่ามนภาวะฉุกเฉินการบริจาคยาอะไรก็ได้ ดีกว่าการไม่มียาใช้อีกสาเหตุหนึ่งอาจะเกิดจากการขาดการสื่อสารระหว่างประเทศผู้ให้กับประเทศผู้รับ ทำให้เกิดการบริจาคยาในรายการที่มีความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้วยังเป็นการเพิ่มภาระแก่ประเทศผู้รับที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตจากการเกิดภัยพิบัติหรือภัยสงครามที่มีทรัพยากรและบุคลากรที่จำกัดแต่ต้องมาเพิ่มภาระการแยกและคัดกรองยาการจัดเก็บและขนส่งกระจายยาที่ไม่เป็นประโยชน์ซึ่งทำให้เกิดความสูญเปล่าและสิ้นเปลืองจาการใช้ทรัพยากรส่วนนี้แทนที่จะนำไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นและสำคัญเร่งด่วนกว่า

2. หลักเกณฑ์การบริจาคยา (Core Principles)
1. ยาต้องเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับ
2. ผู้ให้ต้องเคารพความต้องการและอำนาจของผู้รับ
3. คุณภาพของสิ่งที่ให้ต้องตั้งอยู่บนมาตรฐานเดียวกันกับประเทศผู้ให้ ไม่ใช่สองมาตรฐาน (Double standards) หมายถึงการให้ยาที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศผู้ให้
4. ต้องมีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างผู้ให้และผู้รับ
3. แนวทางเพื่อการบริจาคยา (Guidelines for Drug Donations)
1. ต้องเป็นไปตามต้องการของประเทศผู้รับ และสอดคล้องกับพยาธิสภาพของโรคในประเทศผู้รับ
2. ตัวยาที่บริจาคหรือความเท่าเทียมทางชื่อสามัญของตัวยาต้องได้รับการอนุมัติการขึ้นทะเบียนยาหรือปรากฏในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศผู้รับ
3. รูปแบบของยา ความแรง และสูตรของยาที่ประเทศผู้รับ
4. ยาที่บริจาคควรมาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้และเข้ามาตรฐานของทั้งประเทศผู้ให้และผู้รับบริจาค
5. ยาที่รับคืนจากผู้ซื้อหรือตัวอย่างยาสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะไม่ควรนำมาบริจาค
6. ยาที่บริจาคควรมีอายุยาที่ใช้การได้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี นับจากวันที่ถึงประเทศผู้รับ
7. ฉลากยาต้องเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ในประเทศผู้รับและต้องประกอบด้วยข้อมูลดังนี้
- ชื่อยาสามัญ (generic name หรือ INN)
- รุ่นการผลิต (batch number)
- รูปแบบของยา (dosage form)
- ความแรง (strength)
- ชื่อผู้ผลิต (name of manufacturer)
- ขนาดบรรจุ (quantity in the container)
- วิธีการเก็บรักษา (storage conditions)
- วันหมดอายุ (expiry date)
8. ถ้าเป็นไปได้ ยาบริจาคควรเป็นขนาดบรรจุขนาดใหญ่หรือขนาดโรงพยาบาล
9. ยาที่บริจาคควรจัดส่งตามหีบห่อมาตรฐานการขนส่งระหว่างประเทศ และมีเอกสาร packing list กำกับ และแจ้งรายละเอียดตามข้อ 6 น้ำหนักต่อกล่องบรรจุไม่ควรเกิน 50 กิโลกรัม และไม่บรรจุยาปะปนกับของใช้อื่นในกล่องบรรจุเดียวกัน
10. ผู้รับต้องได้รับการบอกกล่าวจากผู้ให้ตั้งแต่การพิจารณา การตระเตรียม และการจัดส่ง
11. ในประเทศผู้รับการสำแดงมูลค่าของยาบริจาค ควรจะแจ้งตามราคาขายส่งของยาสามัญที่เท่าเทียมกับยาบริจาค ถ้าผู้ส่งไม่มีข้อมูลราคา ให้แจ้งตามราคาขายส่งของยาสามัญที่ทัดเทียมในราคาตลาดโลก
12. ค่าใช้จ่ายการจัดส่งระหว่างประเทศ ในประเทศ การจัดเก็บในคลังสินค้า ค่าใช้จ่ายการผ่านพิธีการศุลกากร การเก็บรักษาและดำเนินการ ควรอยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริจาคหรือตัวแทน ถ้าเป็นอย่างอื่นควรได้รับการตกลงยินยอมล่วงหน้า
4. ทางเลือกอื่นสำหรับผู้บริจาค (Other ways donors can help)
1. ชุดสุขภาพเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน (The New Emergency Health Kit) ใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ประกอบด้วยยารักษาโรค เวชภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง และเครื่องมือแพทย์ขั้นพื้นฐาน ส่วนประกอบของชุดสุขภาพนี้ผ่านมติการเห็นชอบขององค์กร ซึ่งให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศและมีการเก็บสต็อกเพื่อบริจาคยามจำเป็น เช่น ที่ UNICEF และ IDA เป็นต้น
2. การบริจาคเป็นเงิน (Donation in cash) หลังจากผ่านพ้นภาวะฉุกเฉิน การบริจาคเป็นเงินเพื่อการซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น จะเป็นการเหมาะสมกว่าการบริจาคเป็นยา การบริจาคเป็นเงินสดจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมของรัฐบาลท้องถิ่นในการตอบสนองความต้องการทางการแพทย์ของประชาชนและผู้บริโภคได้ดีกว่า ทั้งยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาท้องถิ่นหรือภาคพื้นได้ดีกว่ารวมทั้งแพทย์และผู้ป่วยจะคุ้นเคยกับการใช้ยาท้องถิ่นได้มากกว่า
3. หลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อการบริจาคยาที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความช่วยเหลือ (Additional guidelines for drug donations as part of development aid) ถ้าเป็นการบริจาคยาระยะยาวสำหรับภาวะฉุกเฉินที่ซับซ้อนและต่อเนื่องยาวนานการบริจาคยาควรผ่านขั้นตอนของนโยบายการจัดหาและระบบการกระจายยาแห่งชาติของประเทศผู้รับ โดยตัวยาต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจัดหาตามระเบียบราชการ จัดเก็บและกระจายยาไปตามช่องทางตามปรกติ ตลอดจนผ่านขั้นตอนการประกันคุณภาพเดียวกันกับภาวะปรกติ ถ้าประเทศผู้รับต้องมีส่วนรับผิดชอบกับต้นทุนยา ก็ไม่ควรแจกจ่ายยาโดยไม่คิดมูลค่า
5. การบริหารนโยบายการบริจาคยา (How to implement a policy on drug donations)
การบริหารจัดการยาบริจาคโดยฝ่ายผู้รับ
กำหนดหลักเกณฑ์แห่งชาติในการรับยาบริจาค (Define national guidelines for drug donations)
เป็นการยากสำหรับผู้รับที่จะปฏิเสธการรับยาบริจาคเมื่อยานั้นถูกส่งมาถึงบ้าน ผู้รับจึงควรแจ้งต่อผู้ให้ ถึงประเภทของความช่วยเหลือที่ต้องการและจะรับความช่วยเหลือนั้นอย่างไร ถ้าข้อมูลเหล่านี้ได้สื่อออกไปอย่างมืออาชีพ ผู้ให้จะยินดีและทำตามเพราะฉะนั้นผู้รับจึงควรกำหนดหลักเกณฑ์ของประเทศเพื่อการรับบริจาคยาขั้นพื้นฐานตามหลักเกณฑ์ในระดับนานาชาติ โดยประสานเข้ากับนโยบายแห่งชาติของตนแล้วนำเสนอหลักเกณฑ์แห่งชาตินี้ต่อประเทศผู้ให้ หลังจากนั้นจึงประกาศการใช้หลักเกณฑ์การรับบริจาคยาแห่งชาติอย่างเป็นทางการ
กำหนดขั้นตอนการบริหารจัดการกับยารับบริจาค (Define administrative procedures for receiving drug donations)
การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ปริมาณ รูปแบบ และการจัดการกับยารับบริจาคเหล่านี้ยังไม่เป็นการเพียงพอ การกำหนดขั้นตอนการบริหารจัดการกับยาบริจาค จะมีส่วนช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับยาที่ได้รับการบริจาค การบริหารจัดการกับขั้นตอนการรับบริจาคนี้ควรสอดคล้องและเชื่อมโยงระบบยาที่ใช้อยู่แล้วในภาวะปรกติ เพียงแต่มีคำถามเพิ่มขึ้นที่ต้องได้รับการบริหารจัดการที่ถูกต้องได้แก่
 ใครเป็นผู้กำหนดยาที่จำเป็น และใครเป็นผู้ลำดับความสำคัญก่อนหลัง
 ใครเป็นผู้ประสานงานการรับบริจาคยาทั้งหมด
 ต้องใช้เอกสารอะไรในการวางแผนรับการบริจาค ใครควรได้รับเอกสารเหล่านั้น
 มีขั้นตอนอะไรที่จะนำมาใช้เมื่อการบริจาคไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์
 มีมาตรการอะไรในการรับ / ปฏิเสธการบริจาค ใครเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย
 ใครเป็นผู้ประสานงานการรับ การจัดเก็บ และการกระจายยาที่ได้รับการบริจาค
 มีวิธีการอย่างไรการประเมินมูลค่ายาเพื่อทำเรื่องรับจ่ายในระบบงบประมาณ
 การจำหน่ายบัญชีของการบริจาคที่ไม่เหมาะสมออก จะทำได้อย่างไร
การกำหนดความจำเป็นในการรับบริจาค
สิ่งสำคัญลำดับสามที่ต้องกระทำ คือการแจ้งรายละเอียดความจำเป็นของยาที่ต้องการรับการบริจาคให้ละเอียดมาที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นความรับผิดชอบของผู้รับบริจาคในการตระเตรียมรายการความต้องการอย่างระมัดระวัง ระบุจำนวนและความต้องการก่อนหลังของแต่ละรายการอย่างชัดเจนยิ่งมีข้อมูลมากเท่าใดยิ่งดี ข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคที่อยู่ในระหว่างการจัดส่งหรือตามคาดการณ์ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริจาคใหม่อย่างยิ่ง ข้อมูลที่สมบูรณ์จากฝ่ายผู้รับเป็นที่ต้องการของฝ่ายผู้บริจาคอย่างมาก และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว

การบริหารจัดการกับยารับบริจาคอย่างระมัดระวัง
มูลค่าของยาบริจาคสูงล้ำในด้านจิตใจ เป็นของกำนัลที่ควรทะนุถนอมยิ่ง ฉะนั้นเมื่อยามาถึงจึงควรรีบตรวจสอบและยืนยันการรับต่อผู้บริจาคหรือตัวแทน เสร็จแล้วจัดเก็บและกระจายไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ดีทางเภสัชกรรม ภายใต้ความรับผิดชอบอย่างครบถ้วนของมืออาชีพ และต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องว่ายาที่ได้รับบริจาคไม่ถูกส่งออกเพื่อขายในต่างประเทศ หรือทางพาณิชยกรรมอื่นใด ทั้งยังไม่จำหน่ายจ่ายแจกเข้าสู่ช่องทางที่ผิดกฎหมาย

หน้าที่ของตัวแทนฝ่ายผู้บริจาค
ผู้บริจาคต้องเคารพหลักเกณฑ์สำคัญของการบริจาคยาที่นำเสนอข้างต้น ผู้บริจาคต้องเคารพข้อกำหนดการรับยาบริจาคแห่งชาติของผู้รับ และตอบสนองตามความจำเป็นก่อนหลังที่ผู้รับบริจาคแจ้งไว้ การบริจาคโดยไม่ผ่านกฎเกณฑ์ควรจะหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด
ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศผู้บริจาคมักไม่ตระหนักถึงปัญหาของการบริจาคยา เพราะฉะนั้น รัฐบาลของประเทศผู้บริจาคจึงควรสร้างจิตสำนึกถึง “หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีของการบริจาค” แก่ประชาชน วิธีการที่ดีที่สุด คือ การใช้สื่อมวลชน
ในประเทศผู้รับบริจาคควรมีการประสานกับผู้บริจาคทั้งหลาย โดยผ่านแกนนำผู้บริจาคและให้แกนนำผู้บริจาค เพื่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ประเทศผู้รับบริจาคควรให้ข้อมูลมากที่สุด เกี่ยวกับรายการที่ได้ขอบริจาคแล้ว และรายการบริจาคที่ได้รับการตอบรับยืนยันแล้ว ในทางตรงกันข้าม ผู้ให้การบริจาคควรประสานให้ข้อมูลแต่ผู้รับบริจาคในรายละเอียดของสิ่งบริจาคที่กำลังลำเลียงส่งมา และวันกำหนดถึงปลายทางเมื่อใดสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อแกนนำผู้ประสานงานการบริจาคอย่างมากในการวางแผนการรับของบริจาคอย่างถูกต้อง และตรวจสอบสิ่งที่ต้องการรับบริจาคเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาทุกข์ที่ได้ผลสูงสุดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: