วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การใช้สังคมออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐไทย

ในประสบการณ์ของผม ผมเห็นว่าในภาพรวมหน่วยงานภาครัฐของไทยมีพัฒนาการของการสื่อสารองค์กร เป็นลำดับดังนี้

สื่อสารโดยใช้กระดาษ  ====>  สื่อสารผ่านเว๊ปไซต์หน่วยงาน ====> สื่อสารโดยใช้สังคมออนไลน์

การใช้สังคมออนไลน์ของหน่วยงาน เป็นการสื่อสาร สิ่งที่หน่วยงาน ต้องการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาทั่วไปรับทราบและรับรู้  เช่น ประกาศรับสมัคร ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ประกาศเผยแพร่คู่มือ แบบคำขอ ต่าง ๆๆ


ผมจึงเห็นว่า การใช้ประโยชน์จากสื่งที่เรียกว่า "สังคมออนไลน์" มีประสิทธิภาพที่เรียกได้ว่ายังอยู่ในระดับน้อยมาก มาก

ความจริงหากเรามองว่าสังคมออนไลน์ เป็นการสื่อสารสองทาง น่าจะดีกว่าการสื่อสารทางเดียว  แต่ผมก็เคยเห็น facebook  ของหลายหน่วยงาน ไม่ได้มีการโต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์ กับ ผู้ที่เข้ามาโพสเลย
น่าเสียดายนะครับ

แต่อย่างไรก็ตาม  หากเป็นว่า  "ล้านคนถาม หนึ่งคนตอบ"   นี่ก็คงไม่ไหวครับ เพราะสังคมออนไลน์ ไม่ใช่เวทีป้อนคำถามฝ่ายเดียว หน่วยงาน คงไม่สามารถ ตอบทุก ๆ คำถามหรือข้อสงสัย ได้ หมด
นี่ยังไม่นับ พวก "เกรียน" ในสังคม อีกนะครับ

ดังนั้นคงต้องพัฒนาให้เกิดความสมดุลทั้งด้านลบและบวกนะครับ


อ้อท้ายที่สุด ผมต้องขออภัย ที่ไม่สามารถระบุหน่วยงานได้นะครับ  แต่ผู้สนใจ ลองค้นใน google ด้วยคำสำคัญ "facebook กรม" ดูนะครับ



วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรื่องเล่า "โดยอนุโลม" (Mutatis mutandis)


      เรื่องมันมีอยู่ว่า หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ ประกาศออก หลักเกณฑ์ ออกมาฉบับหนึ่ง ในรายละเอียดของประกาศดังกล่าว มีข้อหนึ่ง กำหนดไว้ประมาณว่า "กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้ ให้ใช้หลักเกณฑ์นี้โดยอนุโลม"
     ในการอ่านทำความเข้าใจครั้งแรก ผมมีคำถาม ในใจว่า  ก็ไม่เข้าตามหลักเกณฑ์  จะอนุโลมใช้หลักเกณฑ์ได้อย่างไร แล้วจะมีหลักการของการอนุโลมอย่างไร  !?)@)@##!#!@@@   .....  หลังจากอ่านไปสักพัก ผมก็รำพึงกับตัวเองว่า คงต้องหาแนวทางและหลักวิชาการที่จะใช้ตีความและบังคับใช้หลักเกณฑ์ในกรณีที่ต้องอนุโลมหลักเกณฑ์ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
     รายละเอียดที่ได้ศึกษาค้นคว้ามามีดังนี้ ครับ

1. ข้อมูลใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จาก http://www.royin.go.th/ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ได้ให้ความหมายของคำว่าอนุโลม ไว้ว่า
   
อนุโลม
ก. ใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสม, คล้อยตาม; (กฎ) นำมาใช้
โดยอาศัยหลักการอย่างเดียวกัน แต่ให้แก้ไขในรายละเอียดได้
ตามควรแก่กรณี. ว. ตามลําดับ เช่น ท่องแบบอนุโลม, คู่กับ
ปฏิโลม คือ ย้อนลําดับ. (ป., ส.).

2. ในบริบททางกฎหมายปกครอง กล่าวว่า การอนุโลม หรือ Mutatis mutandis  จำแนกออก เป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ คือ
        2.1 การอนุโลมบทบัญญัติอื่นในกฎหมายฉบับเดียวกัน
        2.2 การอนุโลมบทบัญญัติในกฎหมายฉบับอื่น
   ทั้งนี้หากมีความสนใจเพิ่มเติม ก็หาอ่านได้จาก ข้อมูลโดย หลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง fanpage จาก facebook   และจาก ข้อมูลโดยนางสาวดวงเด่น นาคสีหราช จาก gotoknow   ได้นะครับ


      ตามข้อมูลข้างต้นทำให้ผมได้หลักคิด พอที่จะดำเนินการ อนุโลมหลักเกณฑ์ ได้ดังนี้

(ก)   การอนุโลม หลักเกณฑ์ ครั้งนี้ เป็นการอนุโลมบทบัญญัติ  ภายในกฎหมายฉบับเดียวกัน จึงไม่มีปัญหาในการตีความเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของการใช้หลักเกณฑ์ ดังกล่าว

(ข) การอนุโลม  จำเป็น ต้องพิจารณาถึงหลักการของหลักเกณฑ์ ในแต่ละข้อ ก่อนว่า  มีหลักการอย่างไร ในการกำหนดเงื่อนไข และเอกสารที่ต้องใช้

(ค) เมื่อเข้าใจหลักการแล้ว จึงจะพิจารณา ข้อเท็จจริง ว่า จะต้องปรับ หรือ แสดงเอกสาร อะไร เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้

ดังนั้น ข้อสำคัญ ในการอนุโลม ใช้หลักเกณฑ์  ก็คือ  ความสามารถในการเข้าใจ "หลักการ" ของหลักเกณฑ์แต่ละข้อ  โดยหากการเข้าใจในหลักการไม่เท่าเที่ยมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความลึกซึ้งหรือกว้างขวางของหลักการ ก็อาจเป็นผลให้การวินิจฉัยการอนุโลมของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ละรายไม่เท่ากันได้ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ควรที่บันทึกรายละเอียดของการอนุโลมแต่ละครั้งไว้ในการอนุญาตด้วยเช่นกัน
แต่อย่างน้อย จากการค้นคว้าครั้งนี้ ผมก็ ได้ แนวทางในการอนุโลมหลักเกณฑ์ ที่ ผม จะดำเนินงานแล้วนะครับ : D

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เรื่องนี้เริ่มจาก "ชื่อ"

           เรื่องนี้เริ่มจากการถกเถียงทางวิชาการในประเด็นเรื่อง "ชื่อ" ว่าสามารถใช้เครื่องหมาย ® หรือ™ เป็นส่วนหนึ่งของชื่อยาได้ไหม

          ระหว่างการแลกเปลี่ยนความเห็นนั้น ผมแสดงส่วนตัวของผมว่าเครื่องหมาย ® หรือ ™ ไม่ใช่ชื่อ หรือส่วนหนึ่งของชื่อ จึง ไม่ควรปรากฎเป็น รายการทะเบียนตำรับยา หัวข้อ "ชื่อยา" แต่อาจปรากฎเป็นส่วนหนึ่งของ เครื่องหมายการค้า ที่ปรากฎใน รายการทะเบียนตำรับยา หัวข้อ "ฉลากและเอกสารกำกับยา" ได้

         ในขณะที่อีกฝ่าย มีความเห็นแตกต่างว่า ® หริอ ™ สามารถใช้ร่วมและปรากฎในรายการในทะเบียนตำรับยา หัวข้อ "ชื่อยา" ได้ และสามารถปรากฎได้ ใน ฉลากและเอกสารกำกับยา ได้เช่นเดียวกัน

          จากความเห็นที่แตกต่างดังกล่าวในคราวนั้น ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต่างก็มีเหตุผลที่สามารถนำมาอธิบายแนวคิดของตนเอง  ผมเองก็ต้องทบทวนแนวคิดผมเองอีกครั้งเช่นเดียวกัน ว่าเป้นไปตามหลักวิชา หรือหลักตนเองเท่านั้น  ซึ่งเท่าที่ผมได้รวมรวมบรรดาแนวคิดที่สนับสนุนความเห็นของผม มีรายละเอียดดังนี้

          เริ่มจากการค้นหาความหมายของคำว่า  "ชื่อ" โดยพบว่าความหมายใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า

        "ชื่อ"  น. คําที่ตั้งขึ้นสําหรับเรียกคน สัตว์ สถานที่ และสิ่งของโดยทั่ว ๆไปหรือโดยเฉพาะเจาะจง

            ความหมายคำต่อมาที่มีความสำคัญคือความหมายของ "เครื่องหมายการค้า (Trade mark)" โดยจากการศึกษาพบว่ามีข้อกฎหมายที่สมควรกล่าวอ้างความหมาย คือตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. (ที่มา สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา) ได้ให้คำนิยามที่สำคัญไว้ดังนี้

            "เครื่องหมาย" หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่่่อ คํา
ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลขลายมือชื่อ กลุ่มของสีรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
            "เครื่องหมายการค้า" หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่ หมาย หรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้า ของเครื่องหมายการค้านั้น แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของ บุคคลอื่น

               นอกจากนี้ยังคงมีคำอีกคำที่สมควรรวมไว้ด้วยกัน คือ trade name  โดยผู้เขียนพบว่าไม่ปรากฎคำนี้ในพจนานุพรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ปรากฎคำแปลใน ศัพท์นิติศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๕  โดยแปลไว้ว่า
                               "trade name"   ชื่อทางการค้า , ยี่ห้อ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                      
           จากข้อมูลการอ้างอิงแหล่งข้อมูลข้างต้น ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่า "ชื่อ"  จะต้องเป็นคำที่ใช้เรียก สิ่งของได้  ดังนั้น "ชื่อ" ที่จะจัดว่าเป็น "ชื่อยา" ได้นั้นจะต้องเป็นคำที่ใช้เรียก "ผลิตภัณฑ์ยา" ได้เช่นกัน โดยหากไม่เป็นชื่อที่เฉพาะเจาะจง ก็ย่อมหมายถึง ชื่อสามัญทางยา เช่น paracetamol tablet  เป็นต้น และหากเป็นชื่อที่เฉพาะเจาะจง ก็ย่อมหมายถึง ชื่อทางการค้า เช่น ไทลีนอล ซาร่า หรือ พารามอล เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับเครื่องหมายการค้า

            หากพิจารณาในส่วนของเครื่องหมายการค้า จะเห็นได้ว่า "เครื่องหมายการค้า" นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบหลายชนิด  โดยอาจมี "ชื่อ" เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า "เครื่องหมายการค้า" เป็นเครื่องหมายที่มีรายละเอียดมากกว่า "ชื่อ"  จึงยิ่งไม่ควรนำ "เครื่องหมายการค้า" มาระบุในหัวข้อ "ชื่อยา"

           อนึ่งเมื่อพิจารณาข้อกฎหมายของเครื่องหมาย ® หรือ™ นั้น  เครื่องหมาย ® หรือ™  ไม่ได้กำหนดไว้โดยบทบัญญัติของกฎหมาย (หากมีข้อกฎหมาย รบกวนแจ้งผู้เขียนด้วยครับผม)  แต่การใช้เครื่องหมาย ® หรือ™  นั้น เป็นหลักสากลนิยม ในการใช้เครื่องหมาย ® หรือ™ เพื่อที่จะระบุสถานะของ "เครื่องหมายการค้า" นั้นว่าดำเนินการจดทะเบียนตามกฎหมายแล้วหรือยังไม่ได้จดทะเบียน ดังนั้นภายในการใช้เครื่องหมายนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า เครื่องหมาย ® หรือ™  ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า แต่เป็นเครื่องหมายที่ใช้ระบุสถานะทางกฎหมายของเครื่องหมายการค้านั้น ๆ เท่านั้น

            อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่าในบางกรณี "ชื่อยา" อาจจำเป็นต้องปรากฎสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบางชนิดได้ เช่น การใช้สัญลักษณ์แทนเสียง (Pronunciation) หรือ เครื่องหมายวรรคตอนบางชนิด  (Punctuation) ทั้งนี้เท่าที่ใช้ประโยชน์เพื่อการ "เรียก" เช่น การออกเสียง การแบ่งพยางค์ การแบ่ง/การแยก/จัดกลุ่ม/การเชื่อมคำ เท่านั้น  หากเครื่องหมายนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อช่วยในการ "เรียก" ก็ไม่ควรปรากฎเป็น "ชื่อยา" ได้ อาทิเช่น

    • สัญลักษณ์แทนเสียง เกือบทั้งหมด จะปรากฎใน "ชื่อยา" ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น 
    • เครื่องหมายวรรคตอนที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของชื่อยาได้ ได้แก่  นขลิขิต ( ) ยัติภังค์ - เป็นต้น เช่นยาชื่อ เมยา (สองฤทธิ์)  หรือ วานีแวก (เชื้อเป็น)  หรือ เพ-ลา  เป็นต้น เนื่องจากเครื่องหมายเหล่านี้ช่วยและเป็นประโยชน์ในการเรียกชื่อ
    • เครื่องหมายวรรคตอนที่ไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของชื่อยาได้ ได้แก่  อัญประกาศ " อัศเจรีย์ !   เป็นต้น เนื่องจากไม่อาจใช้เพื่อเรียกหรือออกเสียงได้

                 ดังนั้นโดยสรุปในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า  ในเมื่อเครื่องหมาย ® หรือ ™  มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องหมายประเภทหนึ่งที่ไว้ใช้ระบุสถานะของเครื่องหมายการค้า ไม่ใช่เครื่องหมายการค้า  ไม่ใช่ชื่อทางการค้า และไม่อาจออกเสียงหรืออ่านเพื่อเรียกผลิตภัณฑ์ได้ การมีหรือไม่มีเครื่องหมาย ® หรือ™  ไม่กระทบต่อนัยของสิทธิในเครื่องหมายการค้า  ไม่ทำให้การเรียกผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไป 
              เครื่องหมาย ® หรือ ™  จึงไม่สามารถใช้ เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อในรายการ  "ชื่อยา"  ได้