วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การรักษาความลับและการแสดงการไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย


นักกำกับดูแลจำเป็นต้องยึดถือในการรักษาความลับและการแสดงไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เป็นเสมือนหัวใจของการทำงานทุกครั้ง

ในสังคมของการกำกับดูแลนั้น มีมาตรฐานหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นพิ้นฐานของการทำงาน คือ การรักษาความลับและการแสดงความไม่มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการกำกับดูแล และเป็นหลักประกันของการเป็นอิสระในการทำงานที่ปราศจากอคติ ทั้งปวง และยังทำให้เกิดความเชื่อใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนเกี่ยวข้องว่าข้อมูลที่ให้แก่หน่วยงานที่กำกับดูแลนั้น จะไม่รั่วไหลไปเพื่อประโยชน์อื่นใด ดังนั้นจึงถือว่าเป็นกฏเหล็กเลยที่เดียว ที่นักกำกับดูแลจำเป็นต้องยึดถือในการรักษาความลับและการแสดงไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เป็นเสมือนหัวใจของการทำงานทุกครั้ง
การแสดงความไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นหลักสำคัญที่มุ่งหมายให้การกำกับดูแลปราศจากอคติทั้งมวล  เป็นหลักประกันของความเป็นกลาง ทำให้ทราบและพิจารณาความเป็นกลางของผู้ให้ความเห็นได้อย่างชัดเจน การแสดงความไม่มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ จำเป็นต้องแสดงส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งทางตรงและทางอ้อม  
ในทางทฤษฎีโดยทั่วไปแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำกับดูแลควรเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยสิ้นเชิงไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่อย่างไรก็ตามในการกำกับดูแลบางสาขาหรือบางผลิตภัณฑ์ ที่มีความจำกัดในบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ หรือจำเป็นที่ต้องใช้องค์ความรู้ที่ถือเป็นนวัตกรรมที่ก้าวหน้ามาก จะพบอุปสรรคของการสรรหาผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยสิ้นเชิงทั้งทางตรงและะทางอ้อม ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับการกำกับดูแลในสาขาดังกล่าว ในการบริหารจัดการการไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำกับดูแลจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ส่วนการมีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อมนั้นอาจจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ขึ้นอยู่กับองค์คณะหรือขั้นตอนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล ซึ่งการมีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อมนี้ย่อมจะลดทอน คุณค่าของความเห็นทางวิชาการลงไปมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับบริบท ณ เวลา นั้น ๆ
การมีส่วนได้เสียทางตรง  ได้แก่ การที่ผู้นั้นเป็นผู้ที่ได้รับผล (ทั้งผลบวก และผลลบ) โดยตรงจากการกำหนดมาตรการหรือการพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ การที่ได้รับผลโดยตรงนี้ หมายความรวมถึง ผลที่ได้รับในฐานะผู้บริหาร เจ้าของ หุ้นส่วน และที่ปรึกษา ในนิติบุคคล ที่เกี่ยวข้อง และรวมถึงการเป็นผุ้แข่งขันในตลาดกันอีกด้วย ด้วยเช่นกัน และสำหรับการกำกับดูแลการศึกษาวิจัย การมีส่วนได้ส่วนเสียทางตรง ควรหมายความรวมถึงการที่ผู้นั้นเป็นผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยโดยเป็นผู้วิจัยหลัก/ผู้วิจัยร่วม/ผู้สนับสนุนทุนและเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานหรือพิจารณาที่มีผลอนุมัติ/อนญาต การศึกษาวิจัยดังกล่าว

การมีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อม  ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นจากการกำหนดมาตรการหรือการพิจารณา ไม่ได้เกิดกับบุคคลนั้น โดยตรง แต่ ผลเหล่านั้นอาจเกิดกับญาติ บุคคลในครอบครัว หรือคนสนิทใกล้ชิด ก็ได้ และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามีความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหารกำกับดูแลการมีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อม คือ ลำดับชั้นของญาติ หรือ ความสนิทใกล้ชิด ในระดับใดที่เข้าข่ายที่ต้องแจ้งการมีส่วนได่ส่วนเสีย แต่อย่างน้อย ญาติลำดับชั้นแรก คือ พ่อ แม่ คู่สมรส บุตร พี่น้องโดยสายเลือด และสำหรับการกำกับดูแลการศึกษาวิจัย การมีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อม ควรหมายความรวมถึงการที่ผู้นั้นเป็นผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยโดยเป็นผู้วิจัยหลัก/ผู้วิจัยร่วม/ผู้สนับสนุนทุน และเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานหรือพิจารณาที่มีผลอนุมัติ/อนญาต อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยโดยตรง

การรักษาความลับ เป็นมาตรการที่ทำให้เกิดความเชื่อใจกันระหว่างผู้กำกับดูแลและผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล เพราะว่าในห่วงโซ่ของการกำกับดูแล จะมีการพิจารณาและสื่อสารข้อมูลหลายประการที่กระทบต่อชื่อเสียงและการทำธุรกิจของผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล การที่ผู้กำกับดูแลจะเปิดเผยข้อมูลใด ๆ แก่ผู้อื่น จะต้องเป็นไปโดยข้อกำหนดที่ประกาศหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนและเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ 

สำหรับนักศึกษาฝึกงาน
ดังนั้นในการฝึกงาน นักศึกษาจึงควรเรียนรู้หลักการของการรักษาความลับและการแสดงความไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
โดยนักศึกษาโปรดศึกษาและทำความเข้าใจ เอกสารการแสดงส่วนได้ส่วนเสีย และการรักษาความลับ ตามไฟล์ที่แนบ
ทั้งนี้ ก่อนเข้าฝึกงาน จะมีขั้นตอนให้ นักศึกษาลงนามในเอกสารดังกล่าว
HV99-0000-000 Confidentiality Statement.docx

ไม่มีความคิดเห็น: